ผู้สนับสนุน

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คำพิพากษาศาลแพ่ง สงกรานต์เลือดปี "52 สั่งกองทัพชดใช้ "แดง"

"ที่ศาลแพ่งพิพากษาให้ชดใช้เงินให้ผมนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญมากนัก
สิ่งที่ผมกระทำไปหรือออกไปชุมนุมเรียกร้อง
ก็เพื่อต้องการทวงคืนประชาธิปไตยที่ถูกปล้นไปจากประชาชนเท่านั้น
เรื่องเงินทองไม่เคยอยู่ในหัว ถึงวันนั้นจะตายก็ไม่เสียดายชีวิต"

นายไสว ทองอ้ม คนเสื้อแดงชาวจังหวัดสุรินทร์
ซึ่งถูกทหารยิงใส่ในเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายน 2552 หรือ "สงกรานต์เลือด"
จนได้รับบาดเจ็บสาหัสแขนพิการตลอดชีวิต ปัจจุบันกลับไปทำนาที่สุรินทร์

ให้สัมภาษณ์เปิดใจภายหลังศาลแพ่งมีคำพิพากษา
ให้กองบัญชาการกองทัพไทยและกองทัพบก ร่วมกันชดใช้เงินชดเชยให้นายไสว จำนวน 1.2 ล้านบาท

และชดใช้ให้ นายสนอง พานทอง คนเสื้อแดงชาวบุรีรัมย์
ซึ่งถูกยิงบาดเจ็บขาพิการในเหตุการณ์เดียวกัน เป็นเงิน 1 ล้านบาท

นายสนอง เล่าว่า
เข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงทุกครั้งนับตั้งแต่การปฏิวัติรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา

วันเกิดเหตุก่อนโดนยิง ชุมนุมอยู่กับคนเสื้อแดงหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ถ.วิภาวดีรังสิต
ป้องกันไม่ให้ทหารบุกเข้าสลายม็อบบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง

เสียงปืนดังรัว เสื้อแดงแตกกระเจิง
นายสนองถูกยิงขาขวา หนีเอาชีวิตรอด กระโดดลงร่องน้ำหน้ากองดุริยางค์ทหารบก
ทหารบุกมาถึงตัว ช่วยขึ้นจากร่องน้ำนำตัวขึ้นรถ พาไปขังในป้อมยามหน้า พล.1 รอ. 1 คืน
ให้กินยาพาราฯ 4 เม็ดแก้ปวด รุ่งขึ้นจึงนำตัวไปสอบสวน

แล้วถึงส่งตัวไปโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ผ่ากระสุนออก
จากนั้นต้องผ่าตัดกระดูกเข่าถึง 4 ครั้งในรอบ 2 สัปดาห์
ระหว่างนั้นถูกคุกคามมาตลอด จึงหลบหนีออกไปรักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลเปาโล
เมื่ออาการดีขึ้นจึงปรึกษากับทนายเสื้อแดง แจ้งความดำเนินคดีกับรัฐบาลและกองทัพ

กระทั่งศาลพิพากษาให้ชนะคดีในที่สุด

ขณะที่นายไสว ร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงตั้งแต่สมัยเป็น นปก. จนเปลี่ยนเป็น นปช.
ร่วมขับไล่รัฐบาลที่มาจากทหารยึดอำนาจ ถูกยิงที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง
เมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. วันที่ 13 เมษายน 2552

ต้นแขนซ้ายทะลุ ล้มจมกองเลือด สลบไป 3 วัน
ฟื้นขึ้นมาอีกทีก็อยู่โรงพยาบาลราชวิถี ทุกวันนี้ นายไสว แขนซ้ายไม่สามารถใช้งานได้
เนื่องจากกระดูกแตก เส้นเลือดใหญ่และเส้นประสาทขาด เสียหายหลายจุด

เป็นคนพิการตลอดชีวิต



ตอนหนึ่งของคำพิพากษาศาลแพ่งสรุปได้ว่า

เมื่อฟังประกอบข้อเท็จจริงว่าฝ่ายจำเลยที่ 2 (กองบัญชาการกองทัพไทย)
และที่ 5 (กองทัพบก) มีคำสั่งให้กองกำลังทหารซึ่งอยู่ในบังคับบัญชา
และสังกัดของตนตามลำดับชั้น เข้าปฏิบัติการกิจเพื่อยึดคืนพื้นที่
และเปิดผิวจราจรในบริเวณที่เกิดเหตุในยามวิกาล

ซึ่งไม่ชอบด้วยหลักสากล

แม้จะได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ซึ่งอนุญาตให้ใช้อาวุธจริงได้ในการปฏิบัติภารกิจ
อันเป็นไปตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 59/2550
เรื่องกฎการใช้กำลังของกองทัพไทย
ผนวก จ. เรื่องกฎการใช้กำลังเฉพาะการใช้กำลังทหารปราบปรามการจลาจลก็ตาม


แต่เมื่อโจทก์ทั้งสอง (นายไสว ทองอ้ม และ นายสนอง พานทอง)
ไม่มีอาวุธ จึงมิใช่บุคคลที่จะเป็นเป้าหมายให้ฝ่ายทหารใช้กำลังอาวุธประจำกายต่อโจทก์ได้

เพราะตามกฎการใช้กำลังของกองทัพไทย
ตามเอกสารหมายเลข ล.12 ผนวก จ. ข้อ 5.8
 ทหารที่ปฏิบัติการปราบจลาจลจะใช้กำลังได้
เฉพาะเพื่อป้องกันตัวเอง
หรือป้องกันชีวิตผู้อื่นจากอันตรายใกล้จะถึงจากกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธเท่านั้น

และการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวโดยใช้กำลังทหารติดอาวุธ
โดยสภาพต้องกระทำโดยความระมัดระวังอย่างยิ่ง
เพราะการใช้วิธีการดังกล่าวย่อมเป็นการสุ่มเสี่ยง
ต่อการเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุมโดยสุจริตได้

กฎการใช้กำลังของกองทัพไทยในภาคผนวก จ. ข้อ 5.8
ที่ให้สิทธิกองกำลังทหารที่ออกปราบปรามการจลาจล
มีสิทธิใช้อาวุธป้องกันตนเองและป้องกันชีวิตผู้อื่น
ให้พ้นจากอันตรายใกล้จะถึงที่เกิดจากการชุมนุมหรือการจลาจลนั้น
มิได้จำกัดเฉพาะป้องกันชีวิตของทหารที่ออกปฏิบัติภารกิจหรือชีวิตประชาชนทั่วไปเท่านั้น

แต่รวมถึงชีวิตผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยสุจริตในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังทหารในบังคับบัญชาตามคำสั่ง
และในสังกัดของจำเลยที่ 2 และที่ 5 ก่อผลให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส

จึงเป็นการกระทำโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง

ถึงแม้โจทก์จะไม่สามารถระบุตัวคนยิงได้
แต่เมื่อฟังได้ว่าบุคคลในกองกำลังทหารที่ออกมาปฏิบัติภารกิจ
ในวันเกิดเหตุ มีเฉพาะกองกำลังทหารบก

จึงเพียงพอที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดตามลำดับชั้น
ต้องรับผิดจากผลแห่งการละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

โดยโจทก์ไม่จำต้องระบุว่าทหารคนใดเป็นผู้ยิง



คําถามที่ถูกตั้งขึ้นมาทันทีภายหลังคำพิพากษาศาลแพ่งดังกล่าว

คือจะมีผลอย่างไรกับเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดงในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553
ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่รุนแรงยิ่งกว่า เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตถึง 91 ศพ บาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน

นางธิดา โตจิราการ ประธาน นปช. ระบุ
จากการรวบรวมข้อมูลผู้ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมในปี 2553 มีอยู่ประมาณ 1,000 คดี
และเชื่อว่าเหตุการณ์ปี 2553 มีหลักฐานชัดเจนมากกว่า 2552 ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือภาคเคลื่อนไหว

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด กล่าวว่า
เหตุการณ์ทางการเมืองปี 2552 และ 2553
รัฐบาลและกองทัพนำอาวุธร้ายแรงเข้ามาปราบปรามผู้ชุมนุม
ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

รัฐบาลและกองทัพจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการชดใช้ค่าเสียหายให้ประชาชนเหล่านี้ได้

ขณะที่ นางพะเยาว์ อัคฮาด ประธานศูนย์ช่วยเหลือ
ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี 2553
ได้นำข้อมูลผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เข้าหารือกับนางธิดา
ถึงแนวทางการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยจากรัฐบาลและกองทัพให้กับผู้สูญเสีย

โดยจะหยิบยกคำพิพากษาศาลแพ่ง
ในคดี นายไสว ทองอ้ม และ นายสนอง พานทอง มาเป็นคดีตัวอย่างว่า
รัฐบาลและกองทัพจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

"ถึงแม้มันจะน้อยมากสำหรับเงินก้อนนี้ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี"
 

©2010 กลุ่มแดงหลังตู้เย็น

ดาวน์โหลด pdf creator : Discount Cordless Screwdriver : Online Condom Store : Strathwood Chair Shop