ผู้สนับสนุน

วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความตายของ'ฟาบิโอ' กับ ความพยายามไม่ให้ความจริงปรากฏ : พวกคุณกลัวอะไรหรือครับ ???


ตอนที่ 1 : “แด่ฟาบิโอ โพเลนกี”
ฟา บิโอ โพเลนกี ช่างภาพอิสระชาวอิตาลีวัย ๔๘ ปี ทำงานถ่ายภาพให้นิตยสารใหญ่หลายแห่งเช่น Vanity Fair, Vogue, Marie Claire และ Elle เป็นต้น ตลอด ๒๙ ปีที่ประกอบวิชาชีพนี้ เขาเที่ยวตระเวนถ่ายภาพไปราว ๗๐ ประเทศทั่วโลก เขาเคยนำภาพถ่ายไปแสดงนิทรรศการทั้งที่ Cité des Sciences et de l’Industrie อันเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ณ กรุงปารีสและในงาน Paris Book Expo เขายังเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์และร่วมงานสร้างภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับ พ่อลูกนักมวยชาวคิวบาที่พ่อเป็นแชมป์มวยโอลิมปิก ส่วนลูกเป็นแชมป์มวยแห่งชาติของคิวบาด้วย

อิซาเบลลา โพเลนกี น้องสาวของฟาบิโอ เล่าในการแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ศกนี้ว่า ฟาบิโอเป็นคนมีจิตวิญญาณเสรี เปิดใจกว้าง คบหาง่าย ยึดมั่นคุณค่าที่ตนเชื่อถือ และรักสันติ เขารักเมืองไทย อยากอยู่ในเมืองไทย และได้เลือกเมืองไทยเป็นบ้าน เพราะเขารักผู้คนที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเธอรู้สึกขอบคุณคนไทยบางคนที่เสี่ยงชีวิตช่วยนำฟาบิโอส่ง โรงพยาบาล

สองวันก่อนเสียชีวิตด้วยคมกระสุนกลางถนนระหว่างทหาร บุกล้อมปราบที่ชุมนุมราชประสงค์ของ นปช. ฟาบิโอได้เขียนข้อความสั้น ๆ ไว้ในหน้า Facebook ของเขา ซึ่งอิซาเบลลาอ่านให้ฟังทั้งน้ำตาว่า:

“ทุก ๆ วันเหมือนของขวัญที่เราได้มา ฉะนั้นจงทำให้ดีที่สุดเพื่อที่จะได้เป็นสุข ด้วยรักแด่ทุกคน”

เมื่อ เดือนกรกฎาคมศกนี้ Reporters Without Borders (ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน) อันเป็นองค์กร เอ็นจีโอระหว่างประเทศที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์และประณามการ ละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ได้เผยแพร่รายงานการสืบสวนเรื่อง “Thailand: Licence to Kill” (ประเทศไทย: ใบอนุญาตฆ่า http://en.rsf.org/IMG/ pdf/REPORT_RSF_THAILAND_Eng.pdf ) เขียนโดย Vincent Brossel & Nalinee Udomsinn เพื่อประมวลเสนอข้อมูลจากประจักษ์พยานเกี่ยวกับอาชญากรรมต่อสื่อมวลชนทั้ง ไทยและเทศที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตที่ผ่านมารวม ๑๐ กรณี โดยยกกรณีการตายของ ฟาบิโอ โพเลนกีขึ้นมาเป็นอันดับแรกสุด รายงานระบุข้อมูลเกี่ยวกับกรณีนี้ไว้ที่หน้า ๔ – ๕ ว่า: -

ช่างภาพ ฟาบิโอ โพเลนกี ถูกยิงตายราว ๑๐.๔๕ น. วันที่ ๑๙ พฤษภาคมใกล้สวนลุมพินี ห่างใจกลางที่ชุมนุมเสื้อแดงราวหนึ่งกิโลเมตร โพเลนกีถูกยิงในสภาพสวมหมวกกันน็อคขณะเกิดการปะทะอย่างรุนแรงระหว่างทหารกับ ผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ป้องกันบังเกอร์อยู่ มีผู้อื่นถูกสังหารอีก ๔ คนในช่วงการปะทะนี้

มาซารุ โกโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นพยานรู้เห็นการตายของโพเลนกี เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ Reporters Without Borders ฟังว่า: -

***ถาม: คุณช่วยบรรยายสภาพที่คุณเป็นพยานรู้เห็นการตายของฟาบิโอให้หน่อยได้ไหม?มาซารุ โกโตะ: ผมเห็นฟาบิโอหนแรกกลางเดือนเมษายนระหว่างการชุมนุมในกรุงเทพฯซึ่งผมอาศัย อยู่มา ๙ ปีแล้ว เรากลายเป็นเพื่อนกัน…ผมอยู่ใกล้เขาตอนเขาถูกฆ่า เราอยู่ตรงแยกถนนสารสินตัดกับราชดำริในกรุงเทพฯ ใกล้สวนลุมพินี กองทัพเริ่มโจมตี นปช.ที่นั่นเช้าวันนั้น ฟาบิโอกับผมกำลังถ่ายภาพจากฝั่งนปช. คุณจะว่าเราอยู่ตรงแนวหน้าสุดก็ได้ กองทัพเริ่มระดมยิงหนักหน่วงขึ้นราว ๑๐ โมง ผมอยากออกจากแยกนั้นเพราะผู้ชุมนุมคนหนึ่งเพิ่งบอกผมว่าพลซุ่มยิงกำลังจะยิง ใส่เรา เรากำลังถอนตัวอยู่ทีเดียวเมื่อผมสังเกตเห็นร่างคน ๆ หนึ่งอยู่บนถนนลาดยางข้างหลังผม ผมรู้ทันทีว่านั่นคือฟาบิโอ ผมบอกไม่ถูกว่ากระสุนยิงมาจากไหน

ผมไม่แน่ใจว่าเขาถูกฆ่าเพราะเป็น นักข่าวหรือเปล่า กระสุนที่ยิงสวนกันไปมาหนาแน่นมากตอนนั้น ไม่มีการยับยั้งชั่งใจกันต่อไปแล้วไม่ว่าจะในฝ่ายทหารหรือนปช


ภาพฟาบิโอถูกยิงโดย Masuro

*** ถาม: กล้องถ่ายรูปของฟาบิโอหายไป คุณรู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น?มาซารุ โกโตะ: เมื่อเขาถูกยิง เราพยายามดึงเขาให้พ้นวิถีกระสุน มีการเผยแพร่ภาพวีดิโอที่พวกเรากำลังลากเขาในตอนหลัง คุณจะเห็นชายคนหนึ่งแต่งตัวเหมือนนักข่าวกุมมือข้างหนึ่งของฟาบิโอและกล้อง ของเขาไว้ ตั้งแต่นั้นมาเราก็ไม่เจอกล้องถ่ายรูปนี้เลย เรากำลังหามันอยู่

*** ถาม: คุณคิดว่าฟาบิโอถูกหมายหัวในฐานที่เป็นนักข่าวหรือเปล่า?มาซารุ โกโตะ: มีข่าวลือแพร่สะพัดตั้งแต่กลางพฤษภาคมว่าพลซุ่มยิงไม่ทราบฝ่าย อาจเป็นฝ่ายกองทัพหรือนปช.ก็ได้ กำลังจะฆ่านักข่าว คนบางคนอาจอยากให้วิกฤตเลวร้ายลงเพื่อประโยชน์ของตน พอฆ่านักข่าวได้ คุณก็จะยกระดับความวุ่นวายขึ้นไปอีก แต่ผมไม่มีหลักฐานว่าข่าวลือนี้มีข้อเท็จจริงอะไรรองรับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้แนะนำว่าอย่าไปที่บางแห่งที่ ถือว่าอันตรายเกินไป

*** ถาม: คุณคิดว่าทางตำรวจไทยชันสูตรพลิกศพอย่างถี่ถ้วนไหมหลังฟาบิโอตาย?มาซารุ โกโตะ: ศพของเขาถูกฌาปนกิจอย่างรวดเร็วหลังเขาตาย ผมไม่แน่ใจว่าตำรวจได้ชันสูตรพลิกศพอย่างถี่ถ้วนหรือเปล่า

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

ทาง Reporters Without Borders ได้สัมภาษณ์บุคคลอีกคนหนึ่งเกี่ยวกับการตายของโพเลนกี คือ นักถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีชาวสหรัฐฯชื่อ แบรด คอกซ์ เขาอยู่ในที่เกิดเหตุการยิงและตัวเองก็ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนด้วย คอกซ์เป็นผู้สร้างหนังสารคดีเรื่อง “ใครฆ่าเจีย วิเจีย?” เกี่ยวกับกรณีฆาตกรรมนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานชาวเขมรคนหนึ่งซึ่งหนังดัง กล่าวถูกสั่งห้ามฉายในกัมพูชา

***** ถาม: เกิดอะไรขึ้นครับ?
แบรด คอกซ์: ผมไม่เคยพบฟาบิโอมาก่อน ตอนนั้นผมเลือกไปอยู่ตรงแยกถนนตัดกันทางฝั่งบังเกอร์เสื้อแดง มีการระดมยิงจากฝ่ายกองทัพมาหนักทีเดียว พวกเสื้อแดงก็ตอบโต้ด้วยระเบิดเพลิงและระเบิดทำเอง กระสุนนัดหนึ่งยิงถูกยางรถยนต์ข้างหน้าผมห่างหัวผมแค่ ๔๐ เซนติเมตร พอเกือบ ๑๑ โมง ผมเห็นการเคลื่อนไหวบางอย่างบนถนนโพ้นออกไป ผมก็เลยไปดูแล้วกลับมาที่เขตเสื้อแดง ตอนกลับนี่แหละที่ผมรู้สึกปวดแปลบที่เข่าขวาและรู้ตัวว่าถูกยิงเข้าแล้ว แต่ดูเหมือนจะไม่หนักหนานัก ผมหันกลับเพื่อพยายามมองว่ามันยิงมาจากไหนและตอนนั้นแหละที่ผมเห็นฟาบิโอ กองอยู่กับพื้นห่างไปไม่ถึง ๑๐ เมตร ผมเริ่มถ่ายหนังไว้เมื่อนักข่าวคนอื่นและพวกเสื้อแดงลากเขาไปหาที่กำบังแล้ว เอาเขาขึ้นมอเตอร์ไซค์ แต่มันก็สายไปเสียแล้ว

ฟาบิโอถูกบรรทุกซ้อนหลังมอเตอร์ไซค์ส่งโรงพยาบาล

***** ถาม: เกิดอะไรกับกล้องถ่ายรูปของเขา?แบรด คอกซ์: ในฟิล์มหนังที่ผมถ่ายคุณจะเห็นชายคนหนึ่งดูเหมือนจะเป็นนักข่าวเข้าไปช่วยฟา บิโอและถือกล้องของเขาอยู่ แต่ไม่ได้ยื่นกล้องคืนให้มา (ชมหนังข่าวเหตุการณ์ตอนนี้ได้ที่ www.youtube.com/ watch?v=BhPydgjZ9GI )

***** ถาม: ฟาบิโอถูกหมายหัวในฐานที่เป็นนักข่าวหรือเปล่า?
แบรด คอกซ์: ผมพูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่าใครยิงฟาบิโอกับผม ผมคิดว่าเราถูกยิงโดยกระสุนจากทหารหรือพลซุ่มยิง ตอนที่พวกเขายิงเรา มีคนอยู่บนถนนแถวนั้นไม่มากนักและพวกเสื้อแดงที่อยู่ใกล้ที่สุดก็ห่างออก ไปกว่า ๑๐ เมตร ดังนั้นผมจึงไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงถูกยิงใส่ เราตกเป็นเป้าหมายหรือโดนลูกหลงกันแน่? ผมก็ไม่รู้ ผมกำลังถือกล้องถ่ายหนังตัวใหญ่อยู่และก็เห็นได้โดยง่ายว่าผมเป็นชาวต่าง ชาติ แต่ฟาบิโอเขาใส่ชุดดำ เป็นไปได้ไหมว่าพวกนั้นหลงเข้าใจผิดไปว่าเขาเป็นพวกเสื้อดำคนหนึ่ง?
======================================================

ตอนที่ 2 : "ความตายที่รอคำตอบของฟาบิโอ"

รายงาน พิเศษของ The Committee to Protect Journalists (CPJ-คณะกรรมการปกป้องนักข่าว-อันเป็นองค์การอิสระที่ไม่แสวงกำไรเพื่อส่ง เสริมเสรีภาพหนังสือพิมพ์ทั่วโลกด้วยการปกป้องสิทธิของนักข่าวที่จะรายงาน ข่าวโดยไม่ต้องกลัวถูกเล่นงานตอบโต้) เรื่อง "In Thailand unrest, journalists under fire" (ในเหตุไม่สงบในประเทศไทย นักข่าวถูกยิงใส่-http://cpj.org/reports/ 2010/07/in-thailand-unrest-journalists-under-fire.php) เขียนโดย Shawn W. Crispin ผู้แทนอาวุโสของ CPJ ประจำเอเชียอาคเนย์และเผยแพร่เมื่อ 29 กรกฎาคม ศกนี้

ได้ระบุถึงกรณีสังหารฟาบิโอ โพเลนกี ว่า: ในกรณีการยิงโพเลนกี, การสอบสวนที่อึมครึม

การ ตายของฟาบิโอ โพเลนกี ช่างภาพชาวอิตาเลียน เป็นศูนย์รวมเรื่องเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฉบับต่างๆ ที่มาประชันขันแข่งกัน โพเลนกีวัย 48 ปีถูกฆ่าด้วยกระสุนปืนเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม ศกนี้ระหว่างรายงานข่าวปฏิบัติการทางทหารเพื่อขับไล่ผู้ชุมนุมออกจากบริเวณ ถนนราชดำริอันเป็นเขตพื้นที่การชุมนุมประท้วงที่ซับซ้อนพิสดารซึ่ง นปช.ได้สร้างขึ้นในย่านการค้าสุดยอดของกรุงเทพฯ

แบรดลี คอกซ์ นักทำหนังสารคดีผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เล่าว่า เช้าวันนั้นก่อนเกิดเหตุทหารได้ยิงปืนประปรายจากด้านหลังเครื่องกีดขวางเข้า ใส่พื้นที่ห่างออกไป 200 เมตรซึ่งอยู่ใต้การควบคุมของ นปช. คอกซ์บอกว่าทั้งเขากับโพเลนกีได้บันทึกภาพผู้ประท้วงคนหนึ่งถูกยิงที่ขาเวลา ประมาณ 10.45 น.

เวลา 10.58 น. เมื่อรู้สึกว่าการยิงสงบลงพักหนึ่ง คอกซ์เล่าว่า เขาก็ออกจากบังเกอร์ที่ นปช.คุมอยู่ไปยังถนนที่เกือบโล่งร้างเพื่อสืบดูว่าความปั่นป่วนวุ่นวายใน หมู่ผู้ประท้วงห่างไปราว 30-40 เมตรนั้นมันเรื่องอะไรกัน คอกซ์บอกว่าเขาเชื่อว่าโพเลนกีตามหลังเขาไปห่างกันไม่กี่ก้าว ขณะวิ่งไปตามถนน คอกซ์รู้สึกปวดแปลบด้านข้างของขา ปรากฏว่ากระสุนนัดหนึ่งเฉี่ยวหัวเข่าเขาบาดเจ็บเล็กน้อย เมื่อเขาหันกลับไปมองในทิศทางของกองทหาร เขาก็เห็นโพเลนกีแผ่หราอยู่กับพื้นข้างหลังเขา 2-3 เมตร ตอนนั้นโพเลนกีสวมหมวกกันน็อคสีฟ้าเขียนคำว่า "สื่อสิ่งพิมพ์" ทั้งหน้าหลังและติดปลอกแขนสีเขียวเพื่อบอกว่าเขาเป็นนักข่าวที่ปฏิบัติ งานอยู่

"ตอนนั้นผมรู้สึกว่าเราถูกยิงพร้อมกันเป๊ะเลย บางทีอาจจะโดยกระสุนนัดเดียวกันด้วยซ้ำไป" คอกซ์กล่าว และเสริมว่า เขาไม่ได้ยินเสียงปืนหนึ่งหรือหลายนัดที่ยิงถูกเขาหรือโพเลนกี "ผมไม่รู้ว่าใครยิงผมหรือฟาบิโอ แต่ถ้าทหารกำลังพยายามยิงพวกเสื้อแดงละก็ มันไม่มีใครอยู่รอบตัวพวกเราเลยนี่ครับ ... ทหารกำลังยิงใส่สิ่งของหรือผู้คนแบบไม่เลือก"

ภาพวิดีโอที่คอกซ์ถ่าย เหตุการณ์บรรดานักข่าวและผู้ประท้วงช่วยกันหามร่างโพเลนกีออกจากถนนขึ้นรถ มอเตอร์ไซค์ไปยังโรงพยาบาลแถวนั้นดูเหมือนจะแสดงให้เห็นว่ากระสุนเจาะเข้า ตัวโพเลนกีทางใต้รักแร้ซ้ายและทะลุออกสีข้าง รายงานข่าวต่างๆ ระบุว่าเขาเสียชีวิตแล้วเมื่อไปถึงโรงพยาบาลในท้องที่ เจ้าหน้าที่ไม่ได้รายงานว่าพบหัวกระสุนใดๆ

ครอบครัวของโพเลนกีได้ แสดงความห่วงกังวลที่รัฐบาลสนองตอบต่อการตายของเขาอย่างอึมครึม อิซาเบลลา โพเลนกี น้องสาวของเขาบอก CPJ ว่า ครอบครัวเธอได้ร้องขอรายงานชันสูตรพลิกศพทางการครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ยังไม่ ได้รับ เธอกล่าวว่าตำรวจกับกระทรวงยุติธรรมบอกเล่าขัดกันว่าตำแหน่งบาดแผลของพี่ชาย เธออยู่ตรงไหนแน่ ซึ่งเธอเองก็ไม่ทันได้เห็นร่างเขาก่อนฌาปณกิจ เธอยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าทรัพย์สินส่วนตัวของโพเลนกีหลายรายการรวมทั้ง กล้องถ่ายรูปและโทรศัพท์หายไป ความขัดแย้งและคลุมเครือทำนองนี้ทำให้เธอยิ่งหวั่นวิตกว่าโพเลนกีอาจถูกหมาย หัวในฐานที่เป็นนักข่าวก็เป็นได้

เธอกับเพื่อนร่วมงานของโพเลน กีกลุ่มหนึ่งจึงร่วมกันปะติดปะต่อวิดีโอคลิปต่างๆ ที่บ้างก็ได้จากนักข่าวผู้อยู่บริเวณข้างเคียงกับโพเลนกีและบ้างก็ดาวน์โหลด จากแหล่งไม่ทราบชื่อบนอินเตอร์เน็ตเพื่อพัฒนาขึ้นเป็นลำดับเหตุการณ์การ เคลื่อนไหวก่อนและหลังการยิง เท่าที่ทราบไม่มีฟิล์มภาพตัวเหตุการณ์การยิงนั้นเอง วิดีโอคลิปอันหนึ่งแสดงภาพชายสวมหมวกกันน็อคสีเงินที่ไม่รู้ว่าเป็นใครเข้า ถึงตัวโพเลนกีหลังถูกยิงเป็นคนแรก ฟิล์มภาพสั้นๆ นั้นแสดงภาพเขาคลำไปรอบอกโพเลนกีและกระแทกเข้ากับกล้องถ่ายรูปของโพเลน กีอยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง ขณะที่ชายสวมหมวกกันน็อคสีเหลืองที่ไม่รู้ว่าเป็นใครอีกคนคุกเข่าลงและถ่าย รูปโพเลนกีไว้

ฟิล์มภาพของคอกซ์ดูจะแสดงภาพชายคู่เดียวกันอยู่ในหมู่ คนที่เคลื่อนย้ายร่างของโพเลนกีออกจากถนนไปขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ที่พาเขาไปโรง พยาบาล ภาพของชายสวมหมวกกันน็อคสีเงินถูกตีพิมพ์ทั้งในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและมติชน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่รู้ว่าเขากับชายสวมหมวกกันน็อคอีกคนหนึ่งนั้นเป็นใคร กันแน่ อิซาเบลลา โพเลนกี กล่าว

นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกรัฐบาล ไม่ตอบคำถามจาก CPJ เกี่ยวกับการยิงโพเลนกี รวมทั้งคำกล่าวอ้างที่ว่าตอนนั้นทหารยิงไม่เลือกหน้า หรือรายละเอียดของกรณีการยิงรายอื่นๆ นายเสก วรรณเมธี อัครราชทูตของสถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ตอบข้อห่วงใยของ CPJ กว้างๆ ในจดหมายลงวันที่ 14 มิถุนายนว่า "รัฐบาลเสียใจที่เกิดการสูญเสียชีวิตและยึดมั่นที่จะสืบสวนกรณีการตายทั้ง หลายอย่างเต็มที่และเที่ยงธรรม....."

ล่าสุด Shawn Crispin ยังได้รายงานความคืบหน้ากรณีนี้ไว้ในเว็บล็อกของ CPJ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ศกนี้ ภายใต้หัวข้อ "In Polenghi case, autopsy shared but more needed" (ในคดีโพเลนกี เผยผลชันสูตรพลิกศพแล้ว แต่ต้องทำมากกว่านี้) http://cpj.org/blog/2010/08/in-polenghi-case-autopsy-shared-but-more-needed.php ว่า: -

.....อย่างไรก็ ตาม กว่าสองเดือนต่อมา (หลังการตายของฟาบิโอ) มันก็ไม่ปรากฏชัดว่าทางการไทยกำลังพยายามทำดีที่สุดเพื่อไขคดีนี้ให้กระจ่าง และนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม
อิซาเบล ลา โพเลนกี น้องสาวของเขา ได้แสดงความห่วงใยดังกล่าวนั้น ณ ที่แถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ (ที่ 30 กรกฎาคม ศกนี้) ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยในกรุงเทพฯ ทาง CPJ เราได้ร่วมขึ้นเวทีเพื่อนำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง "ในเหตุไม่สงบในประเทศไทย นักข่าวถูกยิงใส่" ซึ่งสืบสวนกรณีการตายและบาดเจ็บต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้กับนักข่าวในประเทศไทย รวมทั้งการยิงโพเลนกีจนเสียชีวิตด้วย

ในบรรดาข้อเสนอแนะต่างๆ ของเรา CPJ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยร่วมมือกับผู้สืบสวนอิสระและเปิดเผยผลการชันสูตรพลิก ศพทางการรวมทั้งหลักฐานเชิงนิติเวชอื่นๆ ปรากฏว่ารัฐบาลไม่ได้ตอบสนองผลการสืบสวนของเราอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด แม้ว่าดูเหมือนทางราชการจะรับฟังข้อเสนอแนะของ CPJ ประการหนึ่ง

ใน วันพฤหัสบดี (ที่ 29 กรกฎาคม ศกนี้) อันเป็นวันเผยแพร่รายงานของ CPJ ข้างต้น ตำรวจกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้พบกับอิซาเบลลา โพเลนกี เป็นการส่วนตัวและนำผลการชันสูตรพลิกศพคดีพี่ชายของเธออย่างเป็นทางการให้ เธอดูเป็นครั้งแรก ตำแหน่งบาดแผลที่แน่ชัดของโพเลนกีจะเป็นร่องรอยให้สืบเสาะได้ว่าเขาถูกยิง โดยทหารจากระดับพื้นถนนหรือโดยผู้ประท้วงที่อยู่บนตึกข้างเคียง

ใน ที่แถลงข่าว อิซาเบลลา โพเลนกี ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการชันสูตรพลิกศพและเน้นว่าเป้าหมายของการพบปะกับทาง เจ้าหน้าที่ซึ่งสถานทูตอิตาลีช่วยจัดให้นั้นก็เพื่อ "ร่วมด้วยช่วยกัน" และหาทางประกันให้มั่นใจว่าการสืบสวนของของทางการ "กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเธอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่สืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษถือ การค้นหากล้องถ่ายรูปและโทรศัพท์ของโพเลนกีที่หายไปคืนมาเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนอื่นทั้งด้วยเหตุผลทางนิติเวชศาสตร์และทางอารมณ์ความรู้สึก

อิซาเบล ลา โพเลนกี กล่าวว่า เธอเข้าใจว่าการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ "อาจนานหลายปี" แต่ก็บอกว่าถ้าหากไม่มี "ความรุดหน้า" ใดๆ ในสองเดือนข้างหน้าแล้วเธอก็คงจะกลับมาเมืองไทยอีกเพื่อกดดันในเรื่องที่เธอ ห่วงใย

พรรคพวกเพื่อนฝูงของฟาบิโอซึ่งหลายคนเป็นนักข่าวชาวต่างชาติ ผู้มาหลงรักเมืองไทย อาศัยอยู่เป็นเหย้าและตั้งใจจะเอาเป็นเรือนตายเหมือนกัน ได้เล่าให้ฟังว่าพวกเขาพิศวงงงงันมากว่าเพราะเหตุใดก็ไม่รู้หน่วยราชการ ต่างๆ ไม่ว่าอำอวด, อีเอสไอ, หรืออ๋ออออ๋อ ต่างพากันยัวะเป็นฟืนเป็นไฟที่พวกเขาพยายามร่วมด้วยช่วยกันหาความกระจ่าง เกี่ยวกับสภาพการณ์การตายของฟาบิโอ โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าใครเป็นคนเอาการ์ดบันทึกข้อมูล (memory card) และกล้องถ่ายรูปของฟาบิโอไป รวมทั้งช่วยกันจัดแถลงข่าวให้อิซาเบลลา น้องสาวของฟาบิโอ

แล้วจู่ๆ เพื่อนชาวอเมริกันที่นำภาพวิดีโอที่เขาถ่ายไว้ตอนฟาบิโอตายมาเปิดเผยก็ถูก ดำเนินการขับไล่ออกจากประเทศและข้างภรรยาที่เป็นคนไทยของเพื่อนคนนั้นก็ถูก คุมตัวด้วยอำนาจพิเศษ, โทรศัพท์บางเบอร์ที่เพื่อนๆ ของฟาบิโอใช้ติดต่อประสานงานกันก็ชักมีอาการรบกวนแปลกๆ, เวลาพวกเขาไปไหนมาไหนก็มีคนหน้าตาบ้องแบ๊วคอยติดตามยังกับนิยายสืบสวนสอบ สวน.....

นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ,
รัฐมนตรีองอาจ คล้ามไพบูลย์,
อธิบดีธาริต เพ็งดิษฐ์,
โฆษกปณิธาน วัฒนายากร,
ผู้การสรรเสริญ แก้วกำเนิด

ไม่ แปลกหรือครับ ที่หน่วยงานราชการซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบสืบสวนสอบสวนหาความจริงทุกกรณีการ ตายที่เกิดขึ้นช่วงเหตุการณ์ เมษา-พฤษภาอำมหิต ที่ผ่านมา ทั้งการตายของฟาบิโอและคนไทยกับชาวต่างชาติอื่นๆ อีก 90 คน

ดูเหมือนจะพยายามนานัปการที่จะไม่ให้คนอื่นเขาทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะ?

พวกคุณกลัวอะไรหรือครับ?
 

©2010 กลุ่มแดงหลังตู้เย็น

ดาวน์โหลด pdf creator : Discount Cordless Screwdriver : Online Condom Store : Strathwood Chair Shop